วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนคืออะไร

ปรากฏการณ์โลกร้อน หรือ ภาวะโลกร้อน (global warming) คือปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกและผืนมหาสมุทรสูงขึ้น โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เป็นตัวการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้คายออกไปสู่บรรยากาศ

ปรากฏการณ์โลกร้อนถือเป็นผลพวงจากการมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นในบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้รังสีความร้อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาถูกกักไว้ในโลกโดยไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปได้ หรือที่เรียกว่าภาวะเรือนกระจก

การเกิดขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากกระบวนการเผาไหม้ของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน เป็นต้น ทั้งจากกิจกรรมการขนส่งและการผลิตกระแสไฟฟ้า

แนวทางหนึ่งของการลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือ ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับ ซึ่งปัจจุบันการใช้พลังงานหมุนเวียนบางประเภทยังมีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง)

มีกระแสต่อต้านจากมวลชนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำจากการสร้างเขื่อน) และปัญหาความเพียงพอของวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง (เช่น พลังงานชีวมวล ซึ่งใช้วัตถุดิบร่วมกับภาคเกษตร)

สาเหตุของภาวะโลกร้อน
มหันตภัยร้ายที่กำลังคุกคามโลกอยู่ขณะนี้ คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ปริมาณมหาศาลที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกหนาขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นตัวการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้คายออกไปสู่บรรยากาศ ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ การขนส่งและ การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น มนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วยพร้อมๆกับการที่เราตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาล ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะโลกร้อน ก็จะส่งผลให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลก สูงขึ้นจนถึงระดับอันตรายผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและธารน้ำแข็งบนภูเขาทั้งหมดทั่วโลกค่อยๆ ละลายลงเรื่อยๆ และอาจจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 ฟุต

ผลกระทบ และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะตามมา
ต่อสภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศแปรปรวนมากยิ่งขึ้น
ความชื้นในอากาศเพิ่มมากขึ้นเนื่องด้วยการระเหยของน้ำที่มากขึ้น
ความไม่มั่นคงของอุณหภูมิ

ต่อทะเลและมหาสมุทร
ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งตามทั่วโลกละลาย
น้ำทะเลสูงขึ้น
อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น
การเปลี่ยนสภาวะของน้ำเป็นกรด
การหยุดไหลของกระแสน้ำอุ่น

ต่อมนุษย์
เกิดการขาดแคลนน้ำดื่ม
เกิดการอพยพย้ายที่อยู่อาศัยเนื่องจากโดนน้ำท่วม
เกิดโรคร้ายเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น
สภาพภูมิอากาศ

ปี 2004 บราซิลซึ่งตั้งอยู่บริเวณส่วนใต้ของมหาสุมุทรแอตแลนติกถูกถล่มด้วยพายุเฮอร์ริเคนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมาตลอดว่า "เป็นไปไม่ได้ที่เฮอร์ริเคนจะก่อตัวขึ้นในส่วนใต้ของมหาสุมุทรแอตแลนติก"

ปี 2005 สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับพายุเฮอร์ริเคนถึง 27 ลูกซึ่งรวมถึงเฮอร์ริเคนแคทรีนาที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้เมืองนิวออร์ลีนส์ ในขณะที่ญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยพายุไต้ฝุ่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ลูก จากเดิมที่มีสถิติสูงสุดเพียง 7 ลูกต่อปีเท่านั้น

ปี 2006 ออสเตรเลียถูกพายุไซโคลนระดับ 5 ซึ่งมีกำลังมหาศาลเข้าถล่มหลายลูก โดยเฉพาะไซโคลนโมนิกาที่วัดได้ว่าเป็นไซโคลนที่มีกำลังแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยไซโคลนลูกนี้มีกำลังมากกว่าเฮอร์ริเคนแคทรีนาเสียอีก สภาพภูมิประเทศแหล่งน้ำทะเลสาบชาด อดีตทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนในประเทศชาด ไนจีเรีย แคเมอรูนและไนเจอร์ ภายในเวลาเพียง 40 ปี ทะเลสาบแห่งนี้ ต้องประสบกับการเหือดแห้งของน้ำในทะเลสาบอย่างรุนแรง จนกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบอย่างรุนแรง

10 ปรากฎการณ์ประหลาด ผลกระทบวิกฤต "โลกร้อน!"

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัย "โลกร้อน" ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ อากาศร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังเป็นต้นเหตุของปรากฎการณ์แปลกๆ มากมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับการหายสาบสูญของทะเลสาบ โรคภูมิแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุ วิถีโคจรของดาวเทียมในอวกาศ ฯลฯ!

สารภูมิแพ้แพร่ระบาด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดปรากฎการณ์ประหลาดขึ้นทุกๆ ช่วงฤดูใบไม้ผลินั่นคือ ประชาชนไอ จาม ป็นภูมิแพ้ และหอบหืดกันง่ายขึ้นและบ่อยขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปกับสภาพมลพิษในอากาศ เป็นสาเหตุสำคัญของอาการดังกล่าวอย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยใหม่ๆ ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นและมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากขึ้น คือต้นเหตุทำให้พืชพรรณต่างๆ ผลิใบเร็วกว่าเดิม ขณะเดียวกันปริมาณละอองเกสรที่ฟุ้งกระจายไปตามอากาศก็มากขึ้นเช่นกัน คนที่เป็นภูมิแพ้หรือหอบหืดเมื่อสูดละอองเหล่านี้เข้าไปมากๆ อาการจึงกำเริบง่าย

สัตว์อพยพไร้ที่อยู่

ผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ทำให้สัตว์บางชนิด เช่น กระรอก ตัวชิปมังก์ หรือแม้กระทั่งหนู ต้องอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงขึ้นสัตว์ที่กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ได้แก่ "หมีขั้วโลก" ที่ในอนาคตอาจมีชีวิตอยู่ในถิ่นฐานเดิมแถบอาร์กติก ขั้วโลกเหนือไม่ได้ เนื่องจากธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว

"พืช"ขั้วโลกคืนชีพ

ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลจากภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพราะโลกร้อน ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของพืชและสัตว์จำนวนมาก ตามปกติ พืชแถบอาร์กติกจะถูกปกคลุมอยู่ในน้ำแข็งตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบัน เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะในช่วงก่อนฤดูใบไม้ผลิต จึงทำให้พืชที่เคยถูกห่อหุ้มด้วยน้ำแข็งกลายเป็นอิสระ สามารถเริ่มกระบวนการสังเคราะห์แสงและกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นอีก 1 ปรากฎการณ์ใหม่ของพื้นที่ขั้วโลกเหนือ

ทะเลสาบหายสาบสูญ

เรื่องประหลาดๆ ที่เกิดขึ้นในเขตอาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือยังไม่หมดแค่นั้นมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา "ทะเลสาบ" ประมาณ 125 แห่งได้หายสาบสูญไปจากเขตอาร์กติก เป็นสัญญาณหนึ่งที่ช่วยให้เห็นว่า ภัยโลกร้อนส่งผลกระทบเร็วมากต่อสภาพแวดล้อมแถบขั้วโลกสาเหตุที่ทะเลสาบหายไปก็เพราะ "เพอร์มาฟรอส" ที่เป็นน้ำแข็งแข็งตัวอยู่ใต้พื้นทะเลสาบนั้นละลายหมดสิ้นไป ดังนั้น น้ำในทะเลสาบจึงซึมเข้าสู่พื้นดินข้างใต้ได้ เหมือนกับเวลาเราดึงจุกปิดน้ำออกจากอ่างอาบน้ำแล้วน้ำจึงไหลหมดไปจากอ่างนั่นเองนอกจากนี้ การที่ทะเลสาบขั้วโลกหายวับไป ยังส่งผลลูกโซ่ปั่นป่วนไปถึงระบบนิเวศในพื้นที่ที่พึ่งพิงน้ำจากทะเลสาบอีกด้วย

น้ำแข็งใต้พื้นโลกละลาย

ภาวะโลกร้อนไม่ได้เพียงแค่ทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่องเท่านั้นแต่ยังส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งถาวรที่มีอยู่ใต้พื้นผิวโลกค่อยๆ ละลายลดปริมาณลงไปเช่นกันผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคตก็คือ จุดใต้พื้นโลก ซึ่งเคยเป็นน้ำแข็งหายไปจนเกิดเป็น "รูรั่ว" ใต้ดินขึ้นมาเมื่อเป็นเช่นนี้สภาพทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ย่อมเปลี่ยนไป สิ่งปลูกสร้าง หรือ สิ่งก่อสร้างของมนุษย์ เช่น ทางรถไฟ ถนน บ้านเรือน ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่เหนือจุดดังกล่าวมีโอกาสได้รับความเสียหายตามไปด้วย ถ้าปรากฎการณ์น้ำแข็งละลายเกิดขึ้นบนที่สูง เช่น ภูเขา จะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติตามมา อาทิ หินถล่มและโคลนถล่ม เป็นต้น

ชนวนเกิดไฟป่า

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันทั่วโลก ว่า ภัยโลกร้อนเป็นสาเหตุให้ธารน้ำแข็งละลายและพายุก่อตัวบ่อยและรุนแรงขึ้นกว่าในอดีตยิ่งไปกว่านั้น ภาวะโลกร้อนยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด "ไฟป่า" ได้ง่ายขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และชาติเมืองหนาวในซีกโลกตะวันตก ซึ่งตามปกติไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องไฟป่า ก็เริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้กันแล้ว เหตุเพราะสภาพป่าแห้งกว่าเดิม จึงเป็นเชื้อไฟอย่างดี

ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นถึงอยู่รอด

โลกร้อนส่งผลให้หน้าหนาวหดสั้นลง และหน้าร้อนมาถึงเร็วขึ้นบรรดา "นกอพยพ" หลายสายพันธุ์ต่างมึนงง ปรับ "นาฬิกาชีวภาพ" ในตัวของมันให้เข้ากับสภาพความผันแปรของฤดูกาลที่บิดเบี้ยวไปไม่ทันสัตว์ที่จะเอาชีวิตรอดจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในทุกวันนี้ได้ต้องเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้น ในที่สุดสัตว์ที่อยู่รอดจะต้อง "กลายพันธุ์" หรือปรับพันธุกรรมในตัวมันเสียใหม่ เพื่อรับมือภัยโลกร้อนให้ได้ และมีสัตว์หลายชนิดกำลังวิวัฒนาการตัวเองเช่นนั้นอยู่

ดาวเทียมโคจรเร็วกว่าเดิม

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ยวดยานพาหนะ ฯลฯ คือ ตัวการสำคัญของวิกฤตโลกร้อนล่าสุดพบว่า เจ้าก๊าซตัวเดียวกันนี้เองที่ขึ้นไปสะสมมากขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ได้กลายเป็นต้นเหตุทำให้ "ดาวเทียม" ที่อยู่ในวงโคจรโลกเคลื่อนที่เร็วกว่าเดิมตามปกติ อากาศในบรรยากาศชั้นนอกสุดของโลกจะเบาบาง แต่โมเลกุลของอากาศจะยังคงมีแรงดึงดูดมากพอในการทำให้ดาวเทียมโคจรช้าๆ ดังนั้น เราอาจเคยได้ยินข่าวกันมาบ้างว่า ผู้ควบคุมต้องจึดระเบิดดาวเทียมเป็นระยะๆ เพื่อให้ดาวเทียมโคจรต่อไปอย่างถูกต้องอย่างไรก็ตาม เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ลอยไปสะสมในบรรยากาศชั้นล่างมากไป จะทำแรงดึงดูดของบรรยากาศชั้นนอกสุดลดกำลังลง ดาวเทียมจึงโคจรเร็วกว่าปกติ

ภูเขากระเด้งตัวเหนือพื้นโลก

ภูเขาและเทือกเขาสูงหลายแห่งทั่วโลกกำลังขยายตัว "สูง" ขึ้น เพราะผลจากโลกร้อน!นั่นเป็นเพราะ ตามธรรมชาติที่ผ่านๆ มานับพันปี ยอดภูเขาในเขตหนาวเย็นโดยทั่วไปจะมี "น้ำแข็ง" ปกคลุมอยู่ ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับตุ้มน้ำหนักที่คอยกดทับให้ฐานล่างของภูเขาทรุดต่ำลงไปใต้พื้นผิวเมื่อน้ำแข็งบนยอดเขามลายสูญสิ้นไป ส่วนฐานล่างที่เคยถูกกดจมดินลงไปจะค่อยๆ กระเด้งคืนตัวกลับมาเหนือผิวโลกอีกครั้ง

โบราณสถานเสียหาย

โบราณสถาน เมืองเก่าแก่ ซากปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ อันเป็นสิ่งแสดงถึงวัฒนธรรมอันรุ่งเรื่องของมนุษย์ในอดีตได้รับผลกระทบจากโลกร้อน เหตุเพราะโลกร้อนทำให้อากาศทั่วโลกแปรปรวน ทั้งเกิดพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และล้วนแต่ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมอยู่แล้วโบราณสถานอายุ 600 ปีในจังหวัดสุโขทัยของประเทศไทยเรา ก็เคยเสียหายอย่างหนักเพราะภัยน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากภัยโลกร้อน มาแล้วเช่น

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สวยๆ งามๆ ตามธรรมชาติ...ดอกไม้และแมลง



รูปแบบของภาวะปรสิตนะครับเด็กๆ โดยที่ต้นหญ้าได้ผลประโยชน์จากการใช้รากเข้าชอนไขไปในต้นไม้ทำให้ต้นไม้เสียประโยชน์


ภาพบรรยากาศของแม่น้ำน่านที่จังหวัดน่านเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม อ.ท่าวังผาไปแล้ว


ดอกไม้และใบไม้


ไข่ของหอยเชอรี่ ในทุ่งนาที่เป็นศัตรูพืชนะครับ


ชอบดอกไหน ภาพไหนก็ดูกันตามสบายครับ คลายเครียด


ลูกอะไรไม่รู้คล้ายมะระกินได้ด้วยครับ กับดอกคุณนายตื่นสาย


ดาวเรืองหลายสี หลายพันธุ์




กล้วยไม้และโป๊ยเซียน


ดอกอะไรเอ่ย แต่ที่ให้ชมเพราะเม็ดของมันจะมีนุ่นไว้คอยให้มันปลิวลอยไปไกลเพื่อขยายพันธุ์ต่อ


แมลงเต่าทองหรือเปล่าหว่า



ดอกของผักที่กินได้ ทายสิดอกผักอะไร


ผมถ่ายภาพนี้ยากลำบาก เพราะเข้าใกล้ทีไร บินหนีทุกที ได้มาก็ดีใจแล้ว


แมลงัวนหัวเขียว เห็ดและหนอนครับ ชอบป่ะ

พาสเจอไรส์ (pasteurization)

พาสเจอไรส์ (pasteurization) เป็นการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน การฆ่าเชื้อวิธีนี้สามารถทำลายเอนไซม์ต่าง ๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ทั้งนี้อุณหภูมิที่ใช้ในการฆ่าเชื้อต้องไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส โดยผู้ผลิตสามารถเลือกใช้อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 63 องศาเซลเซียส และคงอยู่ที่อุณหภูมินี้ไม่น้อยกว่า 30 นาที (Low Temperature Long Time) แล้วทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า หรือใช้อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 72 องศาเซลเซียส และคงอยู่ที่อุณหภูมินี้ไม่น้อยกว่า 15 วินาที (High Temperature Short Time) แล้วทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพาสเจอไรส์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิตู้เย็น เพราะการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
หัวข้อ
ประวัติความเป็นมา
วิธีการพาสเจอร์ไรส์
ประโยชน์และข้อควรปฏิบัติ
ประวัติความเป็นมา พาสเจอร์ไรส์เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ซึ่งเป็นคนแรกที่คิดค้นการฆ่าจุลชีพที่แปลกปลอมอยู่ในเหล้าไวน์ระหว่างปี พ.ศ. 2407-2408 โดยการใช้ความร้อนประมาณ 50 - 60 องศาเซลเซียส ซึ่งการค้นพบนี้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการผลิตเครื่องดื่มที่ต้องฆ่าจุลชีพ แต่ใช้อุณหภูมิสูงมากไม่ได้ เพราะจะทำให้รสและกลิ่นเปลี่ยนแปลงและในปี พ.ศ.2434 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ ซอกเลต (Soxhlet) จึงได้นำวิธีการนี้มาใช้กับนมสด [กลับหัวข้อหลัก][ แก้ไข ]
วิธีการพาสเจอร์ไรส์
วิธีการพาสเจอร์ไรส์มี 2 วิธีคือ
1. วิธีใช้ความร้อนต่ำ - เวลานาน (LTLT : Low Temperature - Long Time) วิธีนี้ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 62.8 - 65.6 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที เมื่อผ่านความร้อนโดยใช้เวลาตามที่กำหนดแล้ว ต้องเก็บอาหารไว้ในที่เย็นซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 7.2 องศาเซลเซียส กรรมวิธีการนี้นอกจากจะทำลายแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแล้วยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ย่อยไขมันชนิดไลเปส (Lipase) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดกลิ่นหืนในน้ำนมด้วย
2. วิธีใช้ความร้อนสูง - เวลาสั้น (HTST : High Temperature - Short Time) วิธีนี้ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่าวิธีแรก แต่ใช้เวลาน้อยกว่าคืออุณหภูมิ 71.1 องศาเซลเซียสคงไว้เป็นเวลา 15 วินาที อาหารที่ผ่านความร้อนแล้วจะได้รับการบรรจุลง กล่องหรือขวดโดยวิธีปราศจากเชื้อแล้วนำไปแช่เย็นที่อุณหภูมิ 7.2 องศาเซลเซียส[กลับหัวข้อหลัก][ แก้ไข ]
ประโยชน์และข้อควรปฏิบัติ
ประโยชน์
การพาสเจอร์ไรส์เป็นการถนอมอาหารแบบชั่วคราว เพราะสามารถป้องกันมิให้จุลชีพเจริญในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่สารอาหารยังอยู่ครบถ้วนหรือเกือบครบถ้วน ดังนั้นจึงมีประโยชน์ต่ออาหารที่ต้องรับประทานเป็นประจำแต่ไม่เก็บไว้นาน ๆ เช่น นม น้ำผลไม้ ไอศกรีม ก่อนนำไปปั่นแข็ง เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์แล้วโดย เฉพาะนมดังนี้คือ
1. นมพาสเจอร์ไรส์ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเสมอ บุคคลทั่วไป เข้าใจว่านมสดเมื่อได้รับการฆ่าเชื้อแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ความเป็นจริงแล้วความร้อนที่ใช้เพียงแต่ฆ่าเชื้อที่เป็นสาหตุของโรคเท่านั้น แต่จุลชีพที่ไม่เป็นสาเหตุของโรคยังคงมีอยู่ในน้ำนมและจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหากไม่เก็บนมไว้ในตู้เย็นนมอาจจะเสียภายใน 1 - 7 วันเท่านั้น ดังนั้นพึงระลึกเสมอว่านมพาสเจอร์ไรส์นั้นต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่มี อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส
2. ให้สังเกตลักษณะของนมก่อนดื่ม เพราะนมพาสเจอร์ไรส์จะมีกำหนดอายุ ผู้ผลิตที่ดีต้องพิมพ์วันหมดอายุของนมสดไว้บนถุงที่บรรจุทุกครั้งที่ผลิต โดยทั่วไป นมสดจะมีอายุประมาณ 7 วัน โดยที่นมสดต้องเก็บในสภาพเย็นตลอดแต่ถ้านมสดถูกทิ้งไว้ในอุณหภูมิธรรมดานอกตู้เย็นนาน ๆ โดยเฉพาะหน้าร้อน นมสดอาจจะเสียได้ภายใน 3 วันเท่านั้น ดังนั้นก่อนดื่มนมพาสเจอร์ไรส์ทุกครั้งควรรินใส่แก้ว สังเกตดูว่าถ้ามีตะกอนเป็นเม็ดขาว ๆ เกิดขึ้น แสดงว่านมนั้นเสียแต่ถ้าไม่มีเม็ดขาว ๆ ควรตรวจสอบด้วยการชิมถ้ามีรสเปรี้ยวเกิดขั้นไม่ควรดื่มนมนั้น
3. ไม่ควรเก็บนมสดไว้นานเกินไป ถึงแม้จะเก็บนมพาสเจอร์ไรส์ไว้ในตู้เย็นก็อาจเสียได้ หลายคนประหลาดใจที่พบว่าบ่อยครั้งโดยเฉพาะหน้าร้อน นมสดที่เก็บไว้ในตู้เย็นก็ยังเสียได้ ทั้งนี้เพราะหลังจากการบรรจุถุงพลาสติกแล้วกว่านมจะถูกนำมาส่งที่บ้านอาจจะมีอุณหภูมิสูงนานเกินไป จุลชีพจึงเจริญเติบโตจนทำให้นมเกือบจะเสีย แม้เก็บไว้ในตู้เย็นอีก 2 วัน จุลชีพก็ยังสามารถเจริญเติบโตพอที่จะทำให้นมเสียได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

โซเดียมคาร์บอเนต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โซเดียมคาร์บอเนต หรือ โซดา แอช สูตรเคมี คือ Na2CO3 เป็นสารประกอบเกลือของกรดคาร์บอนิก มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น สามารถดูดความชื้นจากอากาศได้ดี ละลายได้ในน้ำ มีฤทธิ์เป็นด่างแก่เมื่อละลายน้ำ ละลายได้เล็กน้อยในแอลกอฮอล์ พบในขี้เถ้าของพืชหลายชนิดและสาหร่ายทะเล (จึงได้ชื่อว่า โซดา แอช เนื่องจาก แอช ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ขี้เถ้า) เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น แก้ว เซรามิคส์ กระดาษ ผงซักฟอก สบู่ ผงฟูทำขนมปัง การแก้ไขน้ำกระด้าง

โซเดียมคาร์บอเนต พบได้ในธรรมชาติในเขตแห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งแร่ที่เกิดจากทะเลสาบที่ระเหยแห้งไป ในสมัยอียิปต์โบราณ มีการขุดแร่ที่เรียกว่า เนทรอน (natron) (ซึ่งเป็นเกลือที่ประกอบด้วยโซเดียมคาร์บอเนต (หรือ โซดา แอช) และโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้ง โซดา) และมีโซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) และโซเดียมซัลเฟต ปนอยู่เล็กน้อย) จากก้นทะเลสาบที่แห้ง ใกล้แม่น้ำไนล์ และนำมาใช้ในการทำมัมมี่ ใน ปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) พบแหล่งแร่โซเดียมคาร์บอเนตขนาดใหญ่ใกล้แม่น้ำกรีนริเวอร์ มลรัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐขุดแร่มาใช้แทนการผลิตทางกรรมวิธีทางเคมี

ในประเทศอื่น ๆ การผลิตโซเดียมคาร์บอเนตทำโดยกรรมวิธีทางเคมีที่เรียกว่า กระบวนการโซลเวย์ (Solvay process) ซึ่งค้นพบโดย เออร์เนส โซลเวย์ นักอุตสาหกรรมเคมีชาวเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2404 (ค.ศ. 1861) โดยเปลี่ยน โซเดียมคลอไรด์ (น้ำเกลือ) เป็น โซเดียมคาร์บอเนต โดยใช้ แอมโมเนีย และ แคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) และสารที่เหลือจากกระบวนการมีเพียง แคลเซียมคลอไรด์ ซึ่งไม่เป็นพิษแม้ว่าอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ และ แอมโมเนียนั้นยังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ทำให้กระบวนการโซลเวย์มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ากรรมวิธีแบบเดิมมาก จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตโซเดียมคาร์บอเนตอย่างแพร่หลาย ในคริสต์ศตวรรษ 1900 โซเดียมคาร์บอเนต 90% ที่ผลิต ใช้วิธีการนี้ และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

เดิมนั้นการผลิตโซเดียมคาร์บอเนตทำโดยกระบวนเคมีที่เรียกว่า กระบวนการเลอบลังก์ (Leblanc process) ซึ่งค้นพบโดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ นิโคลาส เลอบลังก์ ในปี พ.ศ. 2334 (ค.ศ. 1791) โดยใช้ โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) กรดซัลฟูริก (กรดกำมะถัน) แคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) และถ่าน แต่กรดไฮโดรคลอริค (กรดเกลือ) ที่เกิดจากกระบวนการนี้ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และแคลเซียมซัลไฟด์ ที่เหลือจากกระบวนการทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากโซเดียมคาร์บอเนตเป็นสารเคมีพื้นฐานในอุตสาหกรรมหลายชนิด ทำให้มีการผลิตโซเดียมคาร์บอเนตโดยกรรมวิธีนี้ และเป็นกรรมวิธีหลักมาจนถึงช่วงปี พ.ศ. 2423 - 2433 (ช่วง ค.ศ. 1880 - 1890) หลังการค้นพบกระบวนการโซลเวย์ กว่า 20 ปี โรงงานผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตที่ใช้กระบวนการ เลอบรังค์แห่งสุดท้ายปิดลงในช่วงปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920)

ข้อระวัง
- การกลืนหรือกิน อาจทำให้เกิดความระคายคอ
- การหายใจ สูดดม ก่อให้เกิดอันตราย ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับเป็นเวลานาน
- การสัมผัสทางผิวหนัง ก่อให้เกิดความระคายเคือง อาจเกิดอาการแสบไหม้
- หากเข้าตา จะเกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง เป็นอันตรายได้

เบส (เคมี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เบส ตามคำจำกัดความของ อาร์รีเนียส (Svante Arrhenius) คือ สารประกอบเคมี ที่ดูด ไฮโดรเนียม ไอออน เมื่อละลายในน้ำ (ผู้รับโปรตอน) หมู่ธาตุอัลคะไล เป็นตัวอย่างพิเศษสำหรับเบส ในที่ที่สิ่งแวดล้อมเป็นน้ำ ไฮดรอกไซด์ไอออน จะถูกให้ เบสและ กรด ถูกมองว่าอยูตรงข้ามกันเพราะว่าผลของกรดคือการเพิ่มความเข้มข้น ของ ไฮโดรเนียม ไอออน (H3O+) ในน้ำ, ในขณะที่เบสลดความเข้มข้น เบส อาร์รีเนียสเมื่อละลายน้ำสารละลายของมันจะมี pH มากกว่า 7 เสมอ กรดเมื่อผสมกับเบสจะสะเทินทำให้ได้น้ำกับเกลือ

เบสธรรมดา
คาร์บอเนต (Carbonates) - ผงทำขนมปัง (Baking soda-sodium hydrogen carbonate) และ โซเดียมคาร์บอเนต (Sodium carbonate)
แอมโมเนีย (Ammonia) และ อะไมน์(amine)
ไพริดีน (Pyridine) และ เบสิกอะโรมาติกริง (basic aromatic ring)
โลหะไฮดรอกไซด์ เช่น โซเดียม ไฮดรอกไซด์ หรือ โพรแทสเซียม ไอดรอกไซด์
โลหะออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับน้ำเกิดเป็น เบสิกไฮดรอกไซด์ (แอนไฮไดรด์)

เบส และ pH
pH ของน้ำไม่บริสุทธิ์จะวัดกันที่ ความเป็นกรด ของมัน ในน้ำบริสุทธิ์ ประมาณ 1 ใน 10 ล้านโมเลกุล จะแตกตัวไปเป็น ไฮโดรเนียมไอออน (H3O+) และ ไฮดรอกไซด์ไอออน (OH)

ลักษณะเฉพาะของเบส
เบสมีความหนืดมากกว่าน้ำเล็กน้อย มีรสขม คล้ายสบู่เมื่อสัมผัส ทำปฏิกิริยากับกรดได้เกลือ

การทำกรดให้เป็นกลาง
เมื่อละลายในน้ำ เบส โซเดียมไฮดรอกไซด์จะแตกตัวเป็น ไฮดรอกไซด์ และ โซเดียมไอออน

และคล้ายกัน ในน้ำ ไฮโดรเจนคลอไรด์ จะแตกตัวเป็น ไฮโดรเนียม และ คลอไรด์ไอออน

เมื่อนำสารละลายทั้งสองมาผสมกัน H3O+ และ OH− ไอออน จะรวมกันเกิดเป็นโมเลกุลของน้ำ

ถ้าจำนวนของ NaOH และ HCl ละลายเท่ากัน (วัดเป็นโมลไม่ใช่กรัม) ด่างและกรดจะทำปฏิกิริยากันพอดีแล้วเกิดเป็น NaCl (เกลือแกง) ละลายอยู่ในสารละลายนั้น

ความป็นด่างของ นอน-ไฮดรอกไซด์
ทั้ง โซเดียมคาร์บอเนต และ แอมโมเนีย เป็นเบส แม้ว่าสารประกอบทั้งสองจะไม่มี หมู่ OH− ก็ตาม อันนี้เป็นเพราะว่าสารประกอบทั้งสองรับ H+ เมื่อละลายน้ำ

เบสที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเฮเตอโรเจนัส (Bases as heterogeneous catalysts)
สารประกอบด่างสามารถใช้เป็น ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ ไม่ละลายน้ำแบบเฮเตอโรเจนัส ในปฏิกิริยาเคมี ได้ ตัวอย่างคือ โลหะออกไซด์ เช่น
แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide)
แคลเซียมออกไซด์ (calcium oxide)
บาเรียมออกไซด์ (barium oxide)
โพแทสเซียมฟลูออไรด์ (potassium fluoride) บน อะลูมินา (alumina)
ซีโอไลต์ (zeolite)
โลหะทรานซิชัน ใช้ทำตัวเร่งปฏิกิริยาได้ดี หลายตัวทำให้เกิดสารประกอบเบส ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นด่างใช้ในการเร่งปฏิกิริยา ไฮโดรจีเนชัน โดยการเคลื่อนย้าย พันธะคู่, เมียร์วีอิน-พอนน์ดอร์ฟ-เวอร์เลย์ รีดักชัน (Meerwein-Ponndorf-Verlay reduction), ปฏิกิริยาไมเคิล (Michael reaction), และปฏิกิริยาอื่นๆ อีกมากมาย

กรด : ความหมายและตัวอย่าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรด (Acid)
เป็นสารชนิดหนึ่งในทางเคมี โดยทั่วไปแล้วหมายถึงสารชนิดใดก็ได้ที่สามารถละลายน้ำได้ และเกิดสารละลายที่มีค่า pH น้อยกว่า 7

ในทางวิทยาศาสตร์ กรดหมายถึงโมเลกุลหรือไอออนที่สามารถให้โปรตอนแก่เบสได้ กรดเมื่อผสมกับเบสจะสะเทินทำให้ได้น้ำกับเกลือ

ตัวอย่างของกรดที่พบบ่อยได้แก่ กรดมะนาว กรดน้ำส้มสายชู กรดกำมะถัน
การทดสอบกรดสามารถทำได้โดยใช้กระดาษลิตมัส ถ้าเป็นสีส้ม-สีแดงแสดงว่าสารละลายนั้นเป็นกรด

ประเภทของกรด
กรดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
๑. กรดอนินทรีย์ (Inorganic Acids)
๒. กรดอินทรีย์ (Organic Acids)
หรืออาจแบ่งตามความสามารถในการแตกตัวให้โปรตอน มี 2 ชนิดคือ กรดแก่และกรดอ่อน
กรดแก่ เช่น HCl (กรดไฮโดรคลอริก), HNO3 (กรดไนตริก), H2SO4 (กรดซัลฟิวริก) เป็นต้น
กรดอ่อน เช่น CH3COOH (กรดน้ำส้ม), H2CO3 (กรดคาร์บอนิก), H2S (กรดไฮโดรซัลฟิวริก)

ทฤษฎีกรด-เบส
คำว่า ‘กรด’ ในภาษาอังกฤษ (acid) มาจากภาษาละตินว่า แอซิดัส (acidus) ซึ่งแปลว่าเปรี้ยว แต่ในวิชาเคมีมีความหมายแตกต่างออกไป โดยมีทฤษฎีกรด-เบส เป็นตัวขยายความ

- ทฤษฎีกรด-เบส อาร์เรเนียส (สวันเต อาร์เรเนียส) ระบุว่า กรด เมื่อละลายในน้ำแล้วจะเพิ่มความเข้มข้นของไฮโดรเนียมไอออน ส่วนเบสเมื่อละลายน้ำจะเพิ่มความเข้มข้นของไฮดรอกไซด์ไอออน
หมายเหตุ : นิยามดังกล่าวจำกัดอยู่เฉพาะกรดและเบสที่ละลายได้ในน้ำเท่านั้น

- ทฤษฎีกรด-เบส เบรินสเตต-ลาวรี (โยฮันเนส เบรินสเตต และทอมัส ลาวรี) ระบุว่า กรด เป็นตัวให้โปรตอน และเบส เป็นตัวรับโปรตอน ซึ่งกรดและเบสที่สอดคล้องกันจะอยู่ในรูปคู่กรด-เบส
หมายเหตุ : นิยามนี้สามารถใช้อธิบายความเป็นกรด-เบสของสาร โดยไม่จำเป็นต้องละลายน้ำก็ได้

- ทฤษฎีกรด-เบส ลิวอิส (กิลเบิร์ต ลิวอิส) ระบุว่า กรดเป็นตัวรับคู่อิเล็กตรอน และเบสเป็นตัวให้คู่อิเล็กตรอน (บางทีอาจเรียกกรดและเบสในทฤษฎีนี้ว่า กรดลิวอิส และเบสลิวอิส)
หมายเหตุ : ทฤษฎีนี้สามารถใช้อธิบายสารที่แตกตัวแล้วไม่ได้โปรตอน เช่น ไอร์ออน (III) คลอไรด์

ตัวอย่างกรดอื่นๆ สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้โดยการใช้กล่องค้นหานะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แก๊สโซฮอล์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (Gasohol) หรือที่นิยมเรียกว่า E10 คือน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ที่เกิดจากการผสมระหว่าง น้ำมันเบนซิน 90% กับ แอลกอฮอล์ 10% (ได้แก่ เอทานอล) ในภาษาอังกฤษไม่เรียกน้ำมันเชื้อเพลิงว่า เบนซิน แต่จะเรียกว่า แก๊สโซลีน (Gasoline) ดังนั้น จึงเป็นที่มาของคำศัพท์ว่า แก๊สโซฮอล์ นั่นคือ Gaso + hol ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนน้ำมันเบนซิน น้ำมันผสมชนิดนี้ มีใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก ข้อดีของแก๊สโซฮอล์คือ การเผาไหม้ที่สมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากโครงสร้างทางเคมีของแอลกอฮอล์ ทำให้ลดมลพิษในอากาศ และในขณะเดียวกันราคาของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ มีราคาต่ำกว่า น้ำมันเบนซินโดยทั่วไป

สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้นมีองค์ประกอบต่างกับน้ำมันเบนซิน คือน้ำมันเบนซินมี เอมทีบีอี (MTBE) เป็นตัวเพิ่มออคเทน ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ใช้เอทานอล เป็นตัวเพิ่มออคเทน เอทานอลให้พลังงานน้อยกว่าเอมทีบีอี (MTBE) โดยต่างกันอยู่ร้อยละ 1.6-1.8 การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้นออกซิเจนที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในเอทานอล จะช่วยให้การเผาไหม้ภายในห้องเครื่องสมบูรณ์ขึ้นอีก และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่จะปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย

แก๊สโซฮอล์ในประเทศไทย
แก๊สโซฮอล์ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากพระราชดำริของในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2528 ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน โดยได้ทรงศึกษาการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ และนำแอลกอฮอล์มาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศต่างๆ แทบทุกทวีปทั่วโลก เช่น อเมริกา แคนาดา บราซิล เคนยา ปารากวัย สเปน สวีเดน ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีผลดีหลายอย่าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ อ้อย กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนแต่สามารถจัดหาและปลูกขึ้นได้ใหม่ในเวลาอันสั้น

ปัจจุบัน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่มีจำหน่าย คือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลไม่เกินร้อยละ 10 สามารถใช้แทนหรือสลับกับน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ได้ตามปกติ ไม่ต้องไปดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด


แหล่งข้อมูลอื่น
รายละเอียดแก๊สโซฮอล์ จากเว็บไซต์ ปตท.
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ จากเวบบล็อก Mr Gasohol
เอทานอลทดแทนเบนซินได้จริงหรือ จาก วิชาการ.คอม โดย นิภาภรณ์ สีถาการ อยู่ในส่วนพลังงานชีวภาพ
http://weblog.manager.co.th/publichome/gasoholic/Default.aspx
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=mrgasohol&month=10-2007&date=08&group=2&gblog=8

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เหล็กกล้าไร้สนิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหล็กกล้าไร้สนิม หรือ สเตนเลส นั้น ในทางโลหกรรมถือว่าเป็นโลหะผสมเหล็ก ที่มีโครเมียมอย่างน้อยที่สุด 10.5% ชื่อในภาษาไทย แปลจากภาษาอังกฤษว่า stainless steel เนื่องจากโลหะผสมดังกล่าวไม่เป็นสนิมอันเนื่องมาจากการทำปฏิกิริยากันระหว่าง ออกซิเจนในอากาศกับโครเมียมในเนื้อสเตนเลส เกิดเป็นฟิล์มบางๆเคลือบผิวไว้ ทำหน้าที่ปกป้องการเกิดความเสียหายให้กับตัวเนื้อสเตนเลสได้เป็นอย่างดี ปกป้องการเกิด Corrosion และไม่ชำรุดหรือสึกกร่อนง่ายอย่างโลหะทั่วไป สำหรับในสหรัฐอเมริกาและในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบิน นิยมเรียกโลหะนี้ว่า corrosion resistant steel เมื่อไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นโลหะผสมชนิดใด และคุณภาพระดับใด แต่ในท้องตลาดเราสามารถพบเห็น สเตนเลสเกรด 18-8 มากที่สุด ซึ่งเป็นการระบุถึง ธาตุที่เจือลงในในเนื้อเหล็กคือ โครเมียมและนิเกิล ตามลำดับ สแตนเลสประเภทนี้จัดเป็น Commercial Grade คือมีใช้ทั่วไปหาซื้อได้ง่าย มักใช้ทำเครื่องใช้ทั่วไป ซึ่งเราสามารถจำแนกประเภทของสเตนเลสได้จากเลขรหัสที่กำหนดขึ้นตามมาตรฐาน AISI เช่น 304 304L 316 316L เป็นต้น ซึ่งส่วนผสมจะเป็นตัวกำหนดเกรดของสเตนเลส ซึ่งมีความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป สเตนเลสกับการเกิดสนิม ปกติ Stainless steel จะไม่เป็นสนิมเพราะที่ผิวของมันจะมีฟิล์มโครเมียมออกไซด์ บางๆเครือบผิวอยู่อันเนื่องมาจากการทำปฏิกิริยากันระหว่าง Cr ใน Stainless steel กับ ออกซิเจนในอากาศ การทำให้ Stainless steel เป็นสนิมคือการถูกทำลายฟิล์มโครเมียมออกไซด์ ที่เคลือบผิวออกไปในสภาวะที่ Stainless steel สามารถเกิดสนิมได้ ก่อนที่ฟิล์มโครเมียมออกไซด์จะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งเช่น ถ้าสเตนเลสถูกทำให้เกิดรอยขีดข่วน แล้วบริเวณรอยนั้นมีความชื้น ซึ่งสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยากับธาตุเหล็กก่อนที่ฟิล์มโครเมียมออกไซด์จะก่อตัวขึ้นมา ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดสนิมขึ้นได้

ประเภทของสเตนเลส
คนโดยทั่วไปจะไม่ทราบว่าสเตนเลสมีกี่ประเภท และมักจะมีการเข้าใจผิดว่าสเตนเลสแท้ต้องแม่เหล็กดูดไม่ติด แต่จริงๆแล้วการที่แม่เหล็กจะดูดติดหรือไม่ติดนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของสเตนเลส สเตนเลสแบ่งออกเป็นกลุ่มพื้นฐาน ได้ 5 กลุ่มคือ ออสเทนนิติค, เฟอริติค, ดูเพล็กซ์, มาร์เทนซิติค และ กลุ่มเพิ่มความแข็งโดยวิธีการตกผลึก

กลุ่มออสเทนนิติค (Austenitic) หรือสเตนเลสตระกูล 300 เป็นเกรดที่ใช้งานแพร่หลายมากที่สุดถึง 70%
มีคุณสมบัติที่แม่เหล็กดูดไม่ติด (non – magnetic) มีส่วนผสมของโครเมียม 16% คาร์บอนอย่างมากที่สุด 0.15% มีส่วนผสมของธาตุนิกเกิล 8% เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติในการทำการประกอบ(Fabrication)และเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน เกรดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและนิยมเรียก 18/10 คือการที่มีส่วนผสมของโครเมียม 18% และนิกเกิล 10%

กลุ่มเฟอริติค (Ferritic) แม่เหล็กดูดติด(magnetic) มีธาตุคาร์บอนผสมปริมาณที่ต่ำ และมีโครเมียมเป็นธาตุผสมหลักที่สำคัญอาจอยู่ระหว่าง 10.5%-27% และมีนิกเกิ้ลเป็นส่วนผสมอยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย

กลุ่มมาร์เทนซิติค (Martensitic) แม่เหล็กดูดไม่ติด(magnetic) มีส่วนผสมของโครเมียม 12-14% และมีธาตุคาร์บอนผสมอยู่ปานกลาง มีโมลิบดีนัมเป็นส่วนผสมอยู่ประมาณ 0.2-1% ไม่มีนิกเกิล
สเตนเลสตระกูลนี้สามารถปรับความแข็งได้โดยการให้ความร้อนแล้วทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็ว (Quenching)และอบคืนตัว (Tempering) สามารถลดความแข็งได้ คล้ายกับเหล็กกล้าคาร์บอน และพบการใช้งานที่สำคัญในการผลิตเครื่องตัด, อุตสาหกรรมเครื่องบินและงานวิศวกรรมทั่วไป

กลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกผลึก (Precipitation hardening)เกรดที่เป็นที่รู้จักในตระกูลนี้ คือ 17-4H ซึ่งมีส่วนผสมของโครเมียม 17% และนิกเกิล 4% สามารถเพิ่มความแข็งแรงได้โดยกลไกเพิ่มความแข็งจากการตกผลึก (Precipitation hardening mechanism) โดยสามารถเพิ่มความแข็งแรงสูงมาก มีค่าความเค้นพิสูจน์ (Proof stress) อยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 1,500 เมกาปาสคาล (MPa) ขึ้นอยู่กับชนิดและกรรมวิธีปรับปรุง
คุณสมบัติด้วยความร้อน (Heat treatment)

กลุ่มดูเพล็กซ์ (Duplex) มีโครงสร้างผสมระหว่าง โครงสร้างเฟอริติค และออสเทนนิติค มีโครเมียมเป็นธาตุผสมอยู่ระหว่าง 19-28% และโมลิบดินัมสูงกว่า 5% และมีนิกเกิลน้อยกว่าตระกูลออสเทนนิติค พบว่ามีการใช้งานมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศแวดล้อมของคลอไรด์

ประโยชน์ของการใช้งานสเตนเลส
ใช้ในสิ่งแวดล้อมที่กัดกร่อน (Corrosive Environment)
งานอุณหภูมิเย็นจัด ป้องกันการแตกเปราะ
ใช้งานอุณหภูมิสูง (High temperature)ป้องกันการเกิดคราบออกไซด์ (scale) และยังคงความแข็งแรง
มีความแข็งแรงสูงเมื่อเทียบกับมวล (High strength vs. mass)
งานที่ต้องการสุขอนามัย(Hygienic condition) ต้องการความสะอาดสูง
งานด้านสถาปัตยกรรม (Aesthetic appearance) ไม่เป็นสนิม ไม่ต้องทาสี
ไม่ปนเปื้อน (No contamiation) ป้องกันการทำ ปฏิกิริยากับสารเร่งปฏิกิริยา
ต้านทานการขัดถูแบบเปียก (Wet abrasion resistance)

การเลือกใช้หรือซื้อสเตนเลส
การเลือกใช้หรือซื้อสเตนลส ผู้ซื้อหรือผู้ใช้ควรมีความรู้พื้นฐานสักเล็กน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
ความรู้เกี่ยวกับวัสดุ - ความรู้จะช่วยการตัดสินใจไม่เกิดปัญหาผิดพลาดและประหยัดราคา
ความรู้เรื่องเกรดของวัสดุ- เลือกใช้เกรดวัสดุ ถูกต้อง ลดความเสี่ยง ช่วยลดหรือประหยัดจากการใช้วัสดุราคาแพงได้
ความรู้ในการออกแบบ- การออกแบบที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประกอบ
ความรู้ในการตกแต่งผิว- การตกแต่งผิวทำให้ดู สวยงามและมีราคาเพิ่มขึ้น
การประยุกต์ใช้ในงานตกแต่งหรืองานเครื่องใช้ภายในบ้าน- ใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหรือแก้ไข
การใช้การวางแผนการผลิต - การวางแผนการผลิตจะช่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์

ผิวของสเตนเลส
No.1- รีดร้อนหรือรีดเย็น / อบอ่อน หรือปรับปรุงด้วยความร้อน คราบออกไซด์ไม่ได้ขจัดออก / ใช้งานในสภาพที่รีดออกมาโดยทั่วไปจะใช้งานที่ทนความร้อน
2D- สภาพผิว 2D หลังจากการรีดเย็นโดยลดความหนาลง ผ่านการอบอ่อนและการกัดผิวโดยกรดลักษณะผิวสีเทาเงินเรียบ
2B- ผิว 2D ที่ผ่านลูกรีดขนาดใหญ่กดทับปรับความเรียบ เพิ่มความเงาผิวเงาสะท้อนปานกลาง ผลิตโดยวิธีการรีดเย็น ตามด้วยการอบนำอ่อนขจัดคราบออกไซด์ และนำไปรีดเบาๆ ผ่านไปยังลูกกลิ้งขัด ซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปของการรีดเย็น ผิวที่ได้ส่วนมากจะอยู่ในระดับ 2B
BA-ผ่านกระบวนการรีดเย็นโดยความหนาลดลงทีละน้อยๆ ผ่านการอบอ่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจน เพื่อป้องกันกันการออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ผิวมันเงา สะท้อนความเงาได้ดี ผิวผลิตภัณฑ์สเตนเลสจะกระทำด้วยวิธีนี้ ซึ่งจะมีเครื่องหมาย BA หรือ No.2BA, A ซึ่งผิวอบอ่อนเงา จะมีลักษณะเงากระจก ซึ่งเริ่มต้นจากการรีดเย็น อบอ่อนในเตาควบคุมบรรยากาศ ผิวเงาที่เห็นจะเป็นการขัดผิวด้วยลูกกลิ้งขัดผิว หรือเจียรนัยผิวตามเกรดที่ต้องการ ผิวอบอ่อนเงาส่วนมากจะใช้กับงานสถาปัตยกรรม ที่ต้องการผิวสะท้อน ผิวอบอ่อนสีน้ำนมจะไม่สะท้อนแสงเหมือนกับ No.8 จะใช้กับงานที่เป็นขอบ ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม ภาชนะในครัว อุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอาหาร
No.4, Hair Line- สภาพผิว 2B ที่ผ่านการจัดถูด้วยกระดาษทรายเบอร์ 120-220 โดยค่าความหยาบขึ้นอยู่กับแรงกด, ขนาดของอนุภาคเม็ดทราย และระยะเวลาการใช้งานของกระดาษทราย ผิว No.4 เป็นสภาพผิวที่สนองต่อการนำไปใช้งานทั่วไป เช่นร้านอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว อุปกรณ์รีดนม
No.8- สภาพผิว 2B, BA ขัดด้วยผ้าขัดอย่างละเอียดมากขั้นตามลำดับ เช่น #1000, ผ้าขนสัตว์ โดยมีผงขัดอะลูมิเนียมและโครเมียมออกไซด์ ผิว No.8 ส่วนมากจะเป็นผิวเงาสะท้อนคล้ายกระจกเงา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นสเตนเลสชนิดแผ่นโดยผิวจะถูกขัดด้วยเครื่องขัดละเอียด นำไปใช้กับงานตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรม และงานที่เน้นความสวยงาม

การกัดกร่อน
สเตนเลสเป็นวัสดุที่ทนและต้านทานการกัดกร่อน อย่างไรก็ตามมีสเตนเลสหลายตระกูลที่สามารถต้านทานการกัดกร่อนได้ดีเลิศ ในประเด็นการใช้งานที่ต่างกัน ซึ่งต้องเลือกไปใช้ในงานผลิตหรืองานประกอบโครงสร้าง ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างระมัดระวัง
การกัดกร่อนทั่วไป (General corrosion)
เป็นการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นตลอดทั่วผิวหน้า (Uniform attack) การกัดกร่อนแบบนี้มีอันตรายน้อยเพราะว่าสามารถวัด และทำนายการกัดกร่อนที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ การกัดกร่อนแบบนี้จะเกิดขึ้นกับสเตนเลสในสิ่งที่แวดล้อมที่มีผลต่อการกัดกร่อนในอัตราที่ต่ำมาก
การกัดกร่อนเนื่องจากความต่างศักย์ไฟฟ้า (Galvanic corrosion)
เป็นการกัดกร่อนที่เกิดจากโลหะ 2 ชนิดที่มีศักย์ทางไฟฟ้าแตกต่างกันมาอยู่ติดกัน จุ่มอยู่ในสารละลายที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเดียวกัน สเตนเลสจะเป็นโลหะที่มีศักย์สูงกว่า ดังนั้นอัตราการกัดกร่อนแบบกัลวานิคมักจะไม่ค่อยเพิ่มขึ้นในสเตนเลส
การกัดกร่อนแบบสึกกร่อนเนื่องจากการไหลของสารละลายที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง (Erosion corrosion)/การกัดกร่อนเนื่องจากการขัดถู (Abrasion corrosion)
การกัดกร่อนแบบ Erosion/abrasion เป็นปฏิกิริยาที่เกิดร่วมกันระหว่างการสึกหรอทางกลกับการกัดกร่อนจากสารละลาย , ผงหรือเศษที่หลุดมาจากการขัดถู จะแขวนลอยอยู่ในสารละลาย และไหลด้วยความเร็วสูงจะทำให้ผิวหน้าสัมผัสมีอัตราการกัดกร่อนสูง สเตนเลสจะมีความต้านทานการกัดกร่อนแบบสึกกร่อนฯ หรือแบบขัดถูสูงเนื่องจากมีฟิล์มถาวรที่ยึดแน่น และสร้างทดแทนขึ้นที่ผิวหน้าสม่ำเสมอ
การกัดกร่อนตามขอบเกรน (Intergranular corrosion)
การกัดกร่อนตามขอบเกรนเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดการตกผลึกของโครเมียมคาร์ไบด์บริเวณขอบเกรน ที่อุณหภูมิสูงประมาณ 450 - 850C. ทำให้ขอบเกรนมีปริมาณโครเมียมลดลง มีความต้านทานการกัดกร่อนตามแนวขอบเกรนต่ำ แก้ไขโดยการเลือกใช้วัสดุเกรด “L” หรือ เกรดที่ช่วยให้โครงสร้างสถียร (Stabilized grade) และต้องระวังไม่ให้เกิดการกัดกร่อนตามขอบเกรนระหว่างการเชื่อมประกอบโครงสร้าง
การกัดกร่อนแบบสนิมขุม (Pitting corrosion)
การกัดแบบเป็นจุดหรือแบบสนิมขุมเป็นการกัดกร่อนเฉพาะที่เป็นอันตรายมาก ซึ่งมีผลทำให้เกิดการกัดกร่อนที่ผิวหน้าเป็นรูเล็กๆ หรือเป็นรูทะลุตลอดเนื้อวัสดุ แต่สามารถวัดการสูญเสียเนื้อวัสดุได้น้อย สิ่งแวดล้อมที่มีการกัดกร่อนแบบสนิมขุม ส่วนมากจะเป็นสารละลายที่มีอิออนคลอไรด์ (Chloride ion) จะเป็นตำแหน่งที่ฟิล์มถาวรจะถูกทำลายได้ง่ายที่สุดในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ควรจะเลือกใช้วัสดุด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสารละลายของกรดที่มีอุณหภูมิสูง ถ้าเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการกัดกร่อนแบบสนิมขุมไม่สามารถแก้ไขได้ ให้แก้โดยการเลือกใช้โลหะผสมที่ต้านทานการกัดกร่อนสูงกว่า เช่น สเตนเลสเกรดดูเพล็กซ์ และเกรดอื่นๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้
การกัดกร่อนในพื้นที่อับหรือถูกปกปิด (Crevice corrosion)
การกัดแบบนี้เกิดขึ้นที่ผิวหน้าส่วนที่ถูกปิด หรือกดทับของสเตนเลส มีผลทำให้ปิดกั้นออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นสร้างฟิล์มออกไซด์ได้ ทำให้ฟิล์มป้องกันมีแนวโน้มที่จะแตกหรือถูกทำลายลงในพื้นที่อับนี้ ดังนั้นในสภาวะการใช้งานต้องหลีกเลี่ยงการมีพื้นที่อับ
การกัดกร่อนในสภาพแวดล้อมที่มีจุลชีพ (Microbiologically Induced Corrosion : MIC)
การกัดกร่อนที่เป็นผลมาจากจุลชีพ เกิดจากแบคทีเรียที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมเกาะติดที่ผิวหน้าของสเตนเลสทำให้บริเวณนั้น ปิดกั้นออกซิเจน ดังนั้นเงื่อนไขในการกัดกร่อนจึงคล้ายกับแบบ Crevice แบคทีเรียจึงทำให้สถานการณ์ การกัดกร่อนเลวร้ายลง
การแตกร้าวเนื่องจากการกัดกร่อนภายใต้แรงเค้น (Stress Corrosion Cracking : SCC)
SCC คือการแตกเปราะที่เริ่มต้นจากการกัดกร่อนในวัสดุที่มีความเหนียว สเตนเลสเกรดออสเทนนิติกจะมีแนวโน้มที่จะเกิด SCC สูงกว่าเกรดเฟอร์ริติก, สเตนเลสเกรดเฟอร์ริติกจึงสามารถต้านทานการกัดกร่อนแบบ SCC ได้สูงกว่าเกรดออสเทนนิติก

เกร็ดความรู้ในการใช้สเตนเลส
ค่าการนำความร้อน (Thermal conductivity)
สเตนเลสทุกชนิดจะมีค่าการนำความร้อนต่ำกว่าเหล็กกล้าคาร์บอนมาก สเตนเลสเกรดที่มีส่วนผสมโครเมียมอย่างเดียว (plain chromium steel) มีค่าการนำความร้อน +_1/3 และเกรดออสเทนนิติกมีค่าการนำความร้อน +_1/4 ของเหล็กกล้าคาร์บอน ทำให้มีผลต่อการใช้งานที่อุณหภูมิสูง เช่นมีผลต่อการควบคุมปริมาณความร้อนเข้าระหว่างการเชื่อม, ต้องให้ความร้อนเป็นระยะเวลานานขึ้น เมื่อต้องทำงานขึ้นรูปร้อน
สัมประสิทธิ์การขยายตัว(Expansion coefficient)
สเตนเลสเกรดที่มีส่วนผสมโครเมียมอย่างเดียวมีสัมประสิทธิ์การขยายตัวคล้ายกับเหล็กกล้าคาร์บอน แต่เกรดออสเทนนิติกจะมีสัมประสิทธ์การขยายตัวสูงกว่าเหล็กกล้าคาร์บอน 1½ เท่า การที่สเตนเลสมีการขยายตัวสูงแต่มีค่าการนำความร้อนต่ำทำให้ต้องหามาตรการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียหายที่ตามมาเช่น ใช้ปริมาณความร้อนในการเชื่อมต่ำ, กระจายความร้อนออกโดยใช้แท่งทองแดงรองหลัง, การจับยึดป้องกันการบิดงอ ปัจจัยเหล่านี้ต้องพิจารณาการใช้งานร่วมกันของวัสดุ เช่นท่อแลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchanger) ระหว่างเปลือกโครงสร้างเหล็กกล้าคาร์บอน และท่อออสเทนนิติคเป็นต้น
ฟิล์มป้องกันและการสร้างฟิล์ม (Passive film)
สเตนเลสจะมีฟิล์มบางๆ ต้านทานการกัดกร่อน จำเป็นต้องรักษาความสมบูรณ์ของฟิล์มป้องกัน ดังนี้
หลีกเลี่ยงความเสียหายหรือการสัมผัสรุนแรงทางกล
ซ่อมปรับปรุงพื้นที่ที่มีผลต่อการเสียหายเช่น บริเวณที่เกิดสะเก็ดหรือคราบออกไซด์เนื่องจากอุณหภูมิสูงใกล้ๆ แนวเชื่อม, บริเวณที่เกิดความเสียหายทางกลหรือมีการเจียระไน, มีการปนเปื้อนโดยวิธีการสร้างฟิล์มป้องกัน (passivation) อย่างเดียวหรือใช้ทั้งวิธีการแช่กรดเพื่อกำจัดคราบจากออกไซด์ (pickling) หรือ การแช่กรดหรือทาน้ำยาสร้างฟิล์มออกไซด์ (passivation) ที่ผิวเหล็กกล้าสเตนเลส
แน่ใจว่ามีออกซิเจนเพียงพอและสม่ำเสมอที่สร้างออกไซด์ที่ผิวของ เหล็กกล้าสเตนเลสได้
การเสียหายที่ผิวเนื่องจากการเสียดสีที่ผิวโลหะกับโลหะอย่างรุนแรง (Galling /pick up / seizing)
ผิวหน้าสเตนเลสมีแนวโน้มที่จะเกิดการเสียหายเนื่องจากการเสียดสีอย่างรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงและระมัดระมัดระวัง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวโดยสำหรับผิวหน้าที่มีการเสียดสีกันตลอดเวลา ควรใช้ Load หรือแรงเสียดสีต่ำสุด และต้องแน่ใจว่าการเสียดสีไม่สร้างความร้อนเกิดขึ้น ควรรักษาผิวสัมผัสไม่ให้มีการบดกับผงฝุ่น เม็ด ทรายฯลฯ และใช้น้ำมันหล่อลื่นหรือเคลือบผิว

ป้ายกำกับ

10 ปรากฎการณ์ประหลาด ผลกระทบวิกฤต "โลกร้อน" กบ กรด กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ กว่าง กว่าง5เขา กว่างโซ้ง การเขียน การจัดระบบความคิด การทดลอง การประกวดกว่าง การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง การศึกษา การอ่านหนังสือ เกมวิทยาศาสตร์ เกมออนไลน์ แก๊สโซฮอล์ ข่าววิทยาศาสตร์ ไขปริศนา ครูคารม ความหมายของเบส คอนกรีตทนไฟ เครื่องยิงอะตอม เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ โครงการทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล โดยเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ โครงงานวิทยาศาสตร์ โครเมียม งานอำลาอาลัยนักเรียนชั้น ป.6 และ ม. 3 ปี 2551 จักรวาล ช่วงช่วง หลินฮุ่ย เซิร์น โซเดียมคาร์บอเนต ด่าง ดาวน์โหลดรูปเพื่อนๆ ป.6/8 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ จ.อุตรดิตถ์ ดูงานที่อัสสัมชัน เดินเครื่องสร้าง ตัวอย่างกรด ตัวอย่างเบส เตรียมตัวสอบ ท่าอิฐ เทศบาลท่าอิฐ ไทย บทความ เบส เบส (เคมี) แบบสมบูรณ์ ป.6 โปสเตอร์ผลงานนักเรียนชั้น ป. 6 ผลงานเด็ก แผนผังความคิด พาสเจอไรส์ (pasteurization) ภาพวาด ภาวะโลกร้อน แมลงปอ แมลงสาบ แม่เหล็ก ยิงอนุภาค รวมผลงานการวาดภาพโปสเตอร์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ระบบนิเวศ รายชื่อนักเรียน ป. 6/8 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ เรื่องเร้นลับในอวกาศ โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ อุตรดิตถ์ เปิดเทอมปีการศึกษา 2553 วันที่ 17 พค 53 เล่นเกม เล่นเกมฟรีๆ โลกถึงจุดจบ โลหะ วงจรชีวิต วงจรชีวิตของผีเสื้อ วงจรชีวิตแมลงปอ วัฏจักรชีวิต วัว วัสดุทนไฟ วิทยาศาสตร์ เวียดนาม สเตนเลส สมบัติของกรด สมาธิสั้น สวยๆ งามๆ ตามธรรมชาติ...ดอกไม้และแมลง สอบ สัตว์ สารละลายกรด สาเหตุโลกร้อน แสงสี หลุมดำ เหล็กกล้าไร้สนิม อนุภาคฮิกส์ อวัยวะภายใน อะลูมิเนียม แอมโมเนีย แฮดรอน acid A-net base CAI - คำถามวิทยาศาสตร์ชั้น ป.6 cern E-paper LHC mind mapping Storm surge